ไฟฉุกเฉิน ควรใช้ให้ถูกต้องและปลอดภัย

การเปิดไฟฉุกเฉิน HAZARD หรือไฟกะพริบ 4 มุม ควรใช้ให้ถูกต้องตลอดทุกช่วง ของการใช้รถยนต์ ทั้งขณะจอดนิ่งหรือเคลื่อนที่เพราะการเปิดไฟพร่ำเพรื่อ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อ่านแล้วใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนปฏิบัติ ไม่ว่าจะเปิดหรือไม่เปิดไฟฉุกเฉินในสถานการณ์ใด ๆ 

บทความชิ้นนี้เคยลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ MOTORING ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่พบว่า ยังขาดรายละเอียดในบางจุดบ้าง จึงมีการแต่งเติมพร้อมขัดเกลาในหลายส่วน ให้มีความชัดเจนขึ้น หากใครอ่านแล้วก็อย่าเพิ่งเบื่อ เพราะยังพบว่ามีการเปิดไฟฉุกเฉิน กันพร่ำเพรื่ออยู่ไม่น้อย

การเปิดไฟฉุกเฉินพร่ำเพรื่อมี 4 กรณีหลักที่อาจสร้างปัญหาและก่อให้เกิดอุบัติเหตุ 

การเปิดไฟฉุกเฉินพร่ำเพรื่อ อาจสร้างปัญหาและก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ 
1. ข้าม 4 แยกแล้วต้องการตรงไป 
2. ฝนตกหนัก หมอกลงจัด หรือทัศนวิสัยแย่มาก ๆ 
3. เบรกกะทันหันแล้วต้องจอดเป็นคันท้าย 
4. การลากรถยนต์เสีย 

จะเข้า 4 แยกแล้วต้องการ "ตรงไป"
มีความนิยมปฏิบัติที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและลดความปลอดภัยลงได้ และนับเป็น ความหวังดี ต่อตนเองแต่อาจได้ผลร้ายกับผู้อื่น คือ การเปิดไฟฉุกเฉินเมื่อจะเข้า 4 แยกแล้วต้องการตรงไป โดยคิดว่าการปฏิบัติเช่นนั้น เป็นการเตือนรถยนต์คันอื่นที่กำลังร่วมใช้ 4 แยกเดียวกัน ไม่ให้มาชนรถยนต์ของตนเอง

ผู้ขับรถยนต์คันที่แล่นมาทางซ้ายหรือขวาของคันที่จะตรงไป อาจเห็นแค่ไฟกะพริบ มุมหน้ามุมเดียว เสมือนว่ารถยนต์คันที่เปิดไฟฉุกเฉินกำลังจะเตรียมเลี้ยวไปยังด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งที่จริงกำลังจะตรงไป รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ หลายรุ่นออกแบบติดตั้งไฟเลี้ยวด้านหน้าไว้ตำแหน่งมุมสุดเลยไฟหน้าออกไป ผู้ขับรถยนต์ที่กำลังแล่นมาทั้ง 2 ข้างซ้าย-ขวา อาจไม่สามารถเห็นไฟกะพริบทั้ง 2 มุมหน้า พร้อมกัน ถ้ารถยนต์คันนั้นใกล้ 4 แยกเข้ามามากหน่อย หรือในหลายมุมอื่น ๆ ผู้ขับร่วมทางอาจไม่เห็นไฟกะพริบพร้อมกันเป็นคู่ด้านหน้าหรือด้านหลัง ถ้ามีรถยนต์หรือจักรยานยนต์เหลื่อมบังไฟเลี้ยวด้านใดด้านหนึ่งอยู่

เมื่อผู้ร่วมทางเกิดความเข้าใจผิด ก็อาจไม่ระวังหรือไม่ได้ชะลอความเร็วลง ต่อจากนั้นก็อาจ…โครม ชนกลางลำ โดยเฉพาะรถยนต์ที่มาจากทางด้านซ้ายของคันที่เปิดไฟฉุกเฉิน เมื่อผู้ขับเห็นแค่ไฟกะพริบด้านซ้าย ก็นึกว่าจะเลี้ยวซ้าย ซึ่งไม่เกี่ยวกับทางตรงของเขาเลย 

การโต้แย้งจากผู้ที่ต้องการเปิดไฟฉุกเฉินในกรณีที่ว่า ผู้ขับรถยนต์ที่มาจากซ้ายหรือขวา น่าจะเห็นไฟกะพริบด้านหน้าพร้อมกัน 2 ดวงได้ ก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง ในบางมุมสำหรับรถยนต์บางรุ่นที่มีไฟเลี้ยวคู่หน้าติดตั้งไว้ด้านหน้าตรงไม่ใช่มุมสุด

แต่ในการขับบนการจราจรจริง ๆ เมื่อผู้ขับที่มาทางซ้ายหรือขวา มองเห็นไฟเลี้ยวกะพริบ ด้านมุมใกล้ แล้วยังมีเวลาพอหรือเขาควรต้องเล็งต่อไปอีกว่า รถยนต์คันที่จะข้าม 4 แยก จะมีไฟเลี้ยวอีกด้านหนึ่งกะพริบมุมไกลรวมเป็นไฟฉุกเฉินหรือไม่ จะผิดจากการขับตามปกติแค่ไหน ถึงแม้จะพอเห็นไฟกะพริบด้านที่อยู่มุมไกลก็มักไม่ชัด และมีแสงของไฟกะพริบมุมใกล้กวนสายตาอยู่ด้วย

ถ้าเกิดการชนกันขึ้นกลาง 4 แยก ผู้ที่เปิดไฟฉุกเฉินก็น่าจะผิด เพราะสร้างความสับสน และไม่มีกฎหมายจราจรไทยระบุให้เปิดไฟฉุกเฉินเมื่อจะผ่าน 4 แยกแล้วต้องการตรงไป

วิธีปฏิบัติที่ปลอดภัยและถูกต้องก่อนการขับรถยนต์ข้าม 4 แยกแล้วต้องการตรงไป คือ ชะลอความเร็วลง มองซ้าย-ขวาอย่างรอบคอบ ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน เพราะการไม่เปิด ไฟเลี้ยวก็แสดงว่าต้องการตรงไปอยู่แล้ว เมื่อเส้นทางว่างและปลอดภัยจึงค่อยตรงไป

นอกจากนี้ยังสามารถพิสูจน์ได้ในรถยนต์บางรุ่นว่าไฟฉุกเฉินไม่ได้มีไว้ให้เปิด-ปิด เวลาจะข้าม 4 แยกแล้วต้องการตรงไป เพราะตำแหน่งที่ติดตั้งสวิตช์ ไม่ได้สะดวกต่อการใช้เลย ตั้งสมาธิควบคุมรถยนต์ตามปกติ น่าจะปลอดภัยกว่าการมัวแต่คลำหาสวิตช์ไฟฉุกเฉิน

ฝนตกหนัก หมอกลงจัด หรือทัศนวิสัยแย่มาก ๆ 
ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉินถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นข้างหน้าแล้วต้องจอดรถยนต์ เพราะในขณะที่เปิดไฟฉุกเฉิน จะไม่มีไฟเลี้ยวใช้ หากต้องการให้สัญญาณ ก่อนเปลี่ยนเลน หรือผู้ขับรถยนต์คันที่ตามมา อาจคิดว่าเป็นรถยนต์ที่จอดอยู่นิ่ง และแยงตาไม่น้อย จากแสงไฟกะพริบสีเหลืองหลายดวงของรถยนต์หลายคัน รวมถึงถ้ามีรถยนต์คันอื่นบังเหลื่อม อยู่ในบางมุม ไฟกะพริบ 2 ดวงท้าย หรือด้านหน้าอาจมองเห็นเป็นไฟกะพริบเสมือนเป็น ไฟเลี้ยวดวงเดียว และสร้างความเข้าใจผิดขึ้นได้ 

แม้ไฟฉุกเฉินจะช่วยให้ผู้ขับคนอื่นมองเห็นได้ชัดเจน แต่ขณะที่เปิดไฟฉุกเฉินกะพริบทั้ง 4 มุม หากอยากเปลี่ยนเลน จะไม่มีไฟเลี้ยวใช้ ซึ่งในสถานการณ์ที่ทัศนวิสัยแย่อย่างนั้น อาจมีการเปลี่ยนเลนหลบหลีกอะไรกันบ้าง

กรณีทัศนวิสัยแย่มาก ๆ ควรเปิดไฟหน้า (ไฟต่ำ-ไม่ใช่ไฟสูง) พร้อมไฟตัดหมอก- (ถ้ามี) คล้ายกับการเดินทางตอนกลางคืนหรือถ้าแย่มากจริง ๆ จนแทบมองไม่เห็น ควรจอดหลบอย่างปลอดภัยและควรเปิดไฟฉุกเฉินไว้ด้วย

ถ้ายังยืนยันว่าต้องการจะเปิดไฟฉุกเฉินพร้อมกับการขับในกรณีที่ทัศนวิสัยแย่จริง ๆ (ซึ่งไม่มีมาตรฐานว่าแค่ไหนถึงแย่) ควรใช้ความเร็วต่ำมาก ๆ ชิดซ้ายสุด โดยไม่มีการ เปลี่ยนเลน เพราะไม่สามารถใช้ไฟเลี้ยวได้หากต้องการเปลี่ยนเลนหรือเลี้ยว ต้องเปิดไฟฉุกเฉินก่อน และเปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้า (หลาย 10 เมตร) หากไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทันไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน เปิดไฟหน้าแบบต่ำจะดีกว่า

ในสภาพบนการจราจรจริง มักพบว่าเมื่อฝนตกหนัก หมอกลงจัด หรือทัศนวิสัยแย่มาก ๆ แล้วมีรถยนต์เปิดไฟฉุกเฉิน พวกนั้นก็ยังใช้ความเร็วไม่ต่ำนัก อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนเลน กันตามปกติ แล้วอย่างนี้การเปิดไฟฉุกเฉินจะลดความปลอดภัยลงหรือไม่ ? 

นอกจากนั้นถ้ามีรถยนต์จอดเสียหรือจอดหลบแล้วเปิดไฟฉุกเฉินในขณะที่ทัศนวิสัย แย่มาก ๆ พร้อมกับมีรถยนต์ที่แล่นอยู่เปิดไฟฉุกเฉินเต็มไปหมด ผู้ที่ขับรถยนต์ตามมา ก็คงแทบแยกไม่ออก หรือมีเวลาน้อยมากที่จะทราบว่ารถยนต์คันนั้นนั้นจอดหรือแล่นอยู่ เพราะคุ้นตาว่ามีรถยนต์ที่แล่นเปิดไฟฉุกเฉินอยู่ แล้วก็อาจชนโครม อย่างนี้ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายรถยนต์ที่จอด และใช้ไฟฉุกเฉินอย่างถูกต้อง

ในกรณีที่มีผู้โต้แย้งว่า มีอุบัติเหตุจากควันหญ้าไหม้ข้างทาง เพราะผู้ขับไม่มีการเปิดไฟฉุกเฉิน เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วพบว่า สาเหตุหลักไม่ได้มีผลมาจากการเปิด หรือการไม่เปิด ไฟฉุกเฉิน แต่มาจากการไม่ลดความเร็วลงต่ำมาก ๆ แล้วหลบเข้าเลนซ้ายสุด รวมถึงการไม่เปิดไฟหน้าแบบต่ำ

เพราะเมื่อเห็นกลุ่มควันหนาทึบแล้วถึงจะไม่ต้องเปิดไฟฉุกเฉิน ผู้ขับที่ตามมา ก็ควรทราบว่า ต้องลดความเร็วลงมาก ๆ แล้วหลบเข้าเลนซ้ายสุด และถ้าพบรถยนต์ที่จอด หรือชนกันอยู่แล้ว เปิดไฟฉุกเฉิน ก็จะทราบได้ทันทีว่า ต้องจอดหรือหลบ โดยไม่ต้องเล็งกันอีกว่า รถยนต์คันที่ เปิดไฟฉุกเฉินนั้น เป็นรถยนต์ที่จอดหรือแล่นอยู่

เบรกกะทันหัน แล้วต้องจอดเป็นคันสุดท้ายชั่วคราว
บ้างเปิดไฟฉุกเฉินเพราะกลัวผู้ขับรถยนต์คันที่ตามมาเบรกไม่ทัน ทั้งที่โดยปกติสามารถใช้วิธีเหยียบเบรกให้ไฟเบรกสว่างค้างไว้ ถ้ามองกระจกหลังแล้วกลัวรถยนต์คันที่ตามมาจะเสยท้าย ให้ถอนแป้นเบรกแล้วเหยียบซ้ำเพื่อให้ไฟเบรกกะพริบ 1 ครั้ง จะได้เป็นที่สังเกตได้ชัดเจนแล้วค่อยเหยียบแป้นเบรกแช่ไว้

เพราะตามปกติแล้ว ผู้ขับรถยนต์คันที่ตามมา มีหน้าที่เว้นระยะห่างให้เหมาะสม พร้อมกับการเบรก เมื่อมีรถยนต์ด้านหน้าจอด หรือชะลอความเร็วลง ไม่ต้องเปิดไฟฉุกเฉินเตือน เขาก็ควรปฏิบัติเช่นนั้นอยู่แล้ว

หากไม่แน่ใจว่าผู้ขับรถยนต์ที่ตามมาจะเบรกทันหรือไม่ อาจเปิดไฟฉุกเฉินในขณะจอดนิ่ง ต่อท้ายอย่างกะทันหันในช่วงสั้น ๆ ได้ เพราะการจอดลักษณะนี้คล้ายกับการมีรถยนต์ เสียหรือเกิดอุบัติเหตุอยู่บนถนนด้านหน้า สามารถเปิดไฟฉุกเฉินเตือน และเมื่อรถยนต์ที่ตามมาเบรก และจอดอย่างปลอดภัยแล้วหรือก่อนเริ่มออกตัวใหม่ ควรปิดไฟฉุกเฉินทันที

การลากรถยนต์
ถ้ามีโอกาสและเป็นไปได้ ควรทำป้ายใหญ่ ๆ ติดท้ายรถยนต์เพื่อบอกว่า "กำลังลาก" เพราะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้มาก ถ้าต้องการเปิดไฟฉุกเฉินควรใช้ความเร็วต่ำ ชิดเลนซ้ายสุด และระลึกไว้ว่าตอนนั้นไม่มีไฟเลี้ยวใช้ หากต้องการเปลี่ยนเลนหรือเลี้ยว ต้องปิดไฟฉุกเฉิน และเปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้า เพื่อให้สัญญาณตามปกติ แล้วค่อยเปลี่ยนเลน หรือเลี้ยว ถ้าทำไม่ได้ ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน

กรณีอื่น ๆ 
     • หากพบอุบัติเหตุข้างหน้า ควรลดความเร็วและควรเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเตือน รถยนต์ด้านหลังที่ตามมา ถ้าไม่มีการเปลี่ยนเลน 
     • การจอดรถยนต์ในที่มืด อาจเปิดไฟฉุกเฉินไว้เพิ่มความปลอด ภัยได้ หากคิดว่าการเปิดไฟหน้าหรือไฟหรี่ไม่เพียงพอ 
     • การจอดรถยนต์ในพื้นที่หรือเวลาห้ามจอดแล้วเปิดไฟฉุกเฉิน นับเป็นการเอาเปรียบสังคมมากไปหน่อย แต่ก็เปิดได้และไม่อันตราย เพราะเป็นรถยนต์จอดนิ่งอยู่ สำหรับแท็กซี่ที่จอดรับผู้โดยสาร และเปิดไฟฉุกเฉิน ก็พออนุโลมได้ เพราะเป็นการจอดนิ่ง 
     • หลังเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์เสียจอดค้างบนถนนหรือบนไหล่ทาง จำเป็นต้องเปิดไฟฉุกเฉินเตือนไว้ และถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ควรมีป้ายหรือสัญญาณอื่นวางเตือนไว้ล่วงหน้าด้วย 
     • รถยนต์อภิสิทธิ์ คงต้องปล่อยวาง แก้ไขไม่ได้ แต่ในทางหลักการแล้วไม่ดีนัก เพราะตอนนั้นจะไม่มีไฟเลี้ยวใช้ แต่คงไม่มีปัญหาอะไรมากเพราะรถยนต์ทั่วไป ต้องหลบให้อยู่แล้ว ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รถยนต์อภิสิทธิ์ไม่ได้เปิดไฟฉุกเฉินกะพริบพร้อมกันซ้าย-ขวา แต่เปิดไฟเลี้ยวหรือไฟหน้ากะพริบซ้าย-ขวา สลับกัน

การเปิดไฟฉุกเฉินอย่างพร่ำเพรื่อ มักมีสาเหตุมาจากแนวคิดที่ว่า ต้องการเตือน ไม่ให้รถยนต์คันอื่นมาชนรถยนต์ของตน โดยไม่ค่อยห่วงว่า เมื่อเปิดไฟฉุกเฉินแล้ว คนอื่นจะเข้าใจผิดจนเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ แล้วอย่างนี้ถือว่าเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ?

เมื่อเปิดไฟฉุกเฉินครั้งใด ควรแน่ใจว่าเปิดแล้วจะมีความปลอดภัยต่อทุกคนเพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลง